25/67 (IT) ประจำวันจันทร์ที่ 20 มกราคม 2568
TikTok แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ประกาศปิดให้บริการในสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2568 หลังรัฐบาลกลางออกกฎหมายแบน TikTok โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติ โดยในข้อความแจ้งเตือนผู้ใช้งาน TikTok ระบุว่า “เราขอแสดงความเสียใจต่อการหยุดให้บริการในครั้งนี้ และขอขอบคุณสำหรับการสนับสนุนที่ผ่านมา เรากำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อกลับมาให้บริการในสหรัฐฯ โดยเร็วที่สุด” ซึ่งการแบนครั้งนี้ส่งผลให้ผู้ใช้งานในสหรัฐฯ กว่า 170 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึง TikTok รวมถึงไม่สามารถดาวน์โหลดแอปใหม่จากร้านค้าแอปบน Android และ iOS ได้อีกต่อไป ขณะเดียวกัน แอปในเครือของบริษัท ByteDance อย่าง CapCut, Lemon8 และ Gauth ก็ถูกบล็อกเช่นกัน
คำตัดสินครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากศาลฎีกามีมติเป็นเอกฉันท์สนับสนุนกฎหมายที่กำหนดให้บริษัท ByteDance ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ TikTok ต้องขายธุรกิจให้เจ้าของชาวอเมริกัน หรือหยุดให้บริการในสหรัฐฯ ทั้งนี้ ศาลแสดงความกังวลว่าอัลกอริทึมและข้อมูลผู้ใช้งานจำนวนมหาศาล อาจถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีน โดยอัยการสูงสุดกล่าวว่า “ข้อมูลส่วนบุคคลของชาวอเมริกันตกอยู่ในความเสี่ยง และการแบนครั้งนี้ถือเป็นการปกป้องความมั่นคงของชาติ” ขณะที่รัฐบาลกลางยืนยันว่าการแบน TikTok เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงแห่งชาติ แต่กลุ่มสิทธิดิจิทัลอย่าง Electronic Frontier Foundation (EFF) กลับแสดงความไม่เห็นด้วย โดยระบุว่ากฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวที่ครอบคลุมคือทางออกที่เหมาะสมกว่า “การแบน TikTok อาจส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการสื่อสาร และเป็นแนวทางที่สวนทางกับประชาธิปไตย” EFF ระบุในแถลงการณ์
ในขณะที่การแบน TikTok อาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแพลตฟอร์มอเมริกันอย่าง Instagram และ YouTube แต่กลับมีสัญญาณบ่งชี้ว่าผู้ใช้งานอาจย้ายไปใช้แอปจากประเทศจีน เช่น RedNote (Xiaohongshu) แทน ซึ่งนั้นอาจเพิ่มความท้าทายให้ผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่คำสั่งแบนจะถูกเลื่อนออกไป 90 วัน หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมกราคมนี้ โดยเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ TikTok เผชิญกับการแบน โดยก่อนหน้านี้ประเทศอินเดียและแคนาดาก็เคยใช้มาตรการเดียวกัน
แหล่งข่าว https://thehackernews.com/2025/01/tiktok-goes-dark-in-us-as-federal-ban.html